ข่าวสาร

แถลงการณ์ภาคประชาสังคม กรณีท่อขนส่งน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล


สืบเนื่องจากกรณีท่อน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) รั่วไหลลงสู่ทะเลในพื้นที่ จ.ระยอง ตั้งแต่วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ทำให้น้ำมันดิบจำนวนมากไหลลงสู่ทะเลโดยกระจายครอบคลุมพื้นที่ทะเลเป็นบริเวณกว้างและในเวลาต่อมาคราบน้ำมันได้ถูกพัดพาเข้าสู่ชายหาดบริเวณ อ่าวพร้าว เกาะเสม็ดซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล การท่องเที่ยวและวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ในระยะยาวการปนเปื้อนจากน้ำมันและสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดน้ำมันอาจสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและสุขภาพของประชาชนได้
นับแต่เกิดเหตุการณ์บริษัทฯ ได้แถลงต่อสาธารณะว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่น่ากังวลและบริษัทฯสามารถจัดการปัญหาได้  โดยไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของน้ำมันดิบและสารเคมีที่ใช้ในการสลายน้ำมันดิบ  ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและสุขภาพประชาชน  ตลอดจนไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนและมาตรการในการจัดการปัญหาการปนเปื้อนทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อสาธารณะ   ทำให้ประชาชนไม่อาจทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและไม่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนการและมาตรการในการจัดการปัญหาของบริษัทฯ  รวมทั้งไม่สามารถติดตาม ตรวจสอบได้ว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแผนและมาตรการที่กำหนดไว้อย่างถูกต้องครบถ้วนหรือไม่เพียงใด
สำหรับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องซึ่งมีหน้าที่ต้องรักษาประโยชน์สาธารณะและปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนจากเหตุการณ์ดังกล่าว  ก็ไม่ให้ข้อมูลใดๆต่อสาธารณะเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดกับสิ่งแวดล้อมและประชาชนทำให้ประชาชนไม่รู้เท่าทันสถานการณ์และอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้  นอกจากนี้ยังไม่มีการเปิดเผยแผนและมาตรการที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาต่อสาธารณะ ทำให้สังคมไม่สามารถมีส่วนร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินการแก้ไขปัญหาของทั้งบริษัทฯและหน่วยงานรัฐได้ทั้งๆ ที่เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญอย่างมาก 
พวกเราองค์กรที่มีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ขอเรียกร้องต่อฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล  ดังต่อไปนี้
ข้อเรียกร้องต่อบริษัทฯ
๑. บริษัทฯ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ ทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชน  อย่างเป็นธรรมและรวดเร็ว
๒. บริษัทฯ ต้องเสนอแผนและวิธีการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อสาธารณะ โดยต้องจัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเร่งด่วน
บริษัทฯ ต้องชี้แจงสาเหตุของการรั่วไหลของน้ำมันดิบและปริมาณรั่วไหลที่แท้จริงต่อสาธารณะ  รวมทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและสุขภาพของประชาชนที่อาจได้รับจากน้ำมันดิบและสารเคมีที่ใช้ในการแก้ไขปัญหา  พร้อมเสนอมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก รวมทั้งต้องเสนอแผนและมาตรการที่เป็นระบบในการแก้ไขปัญหาหากเกิดกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลอีกในอนาคต
ข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
๑.   หน่วยงานรัฐต้องให้ข้อมูลต่อสาธารณะ เกี่ยวกับผลกระทบของน้ำมันดิบและสารเคมีที่ใช้ในการสลายน้ำมันดิบ ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและสุขภาพของประชาชน
๒.  หน่วยงานรัฐต้องควบคุมตรวจสอบให้แผนและมาตรการแก้ไขปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันดิบที่เกิดขึ้นของบริษัทฯ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการ และต้องควบคุมตรวจสอบให้บริษัทฯ เสนอมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้ปัญหาการรั่วไหลเกิดขึ้นอีก รวมทั้งเสนอแผนและมาตรการที่เป็นระบบในการจัดการปัญหาหากมีการรั่วไหลของน้ำมันดิบเกิดขึ้นอีกในอนาคต  โดยต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการที่ประกอบด้วยนักวิชาการอิสระที่หน่วยรัฐตั้งขึ้น   ตลอดจนต้องควบคุมตรวจสอบให้มีการดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด
๓.   หน่วยงานรัฐต้องควบคุมตรวจสอบให้บริษัทฯ เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเกี่ยวกับสาเหตุของการรั่วไหลของน้ำมันดิบ  ตลอดจนแผนและมาตรการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว
๔.  หน่วยงานรัฐต้องเร่งประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน  เพื่อดำเนินการให้บริษัทฯ ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวอย่างเป็นธรรมและรวดเร็ว
๕.  หน่วยงานรัฐต้องดำเนินการสืบสวนและสอบสวนถึงสาเหตุและปริมาณที่แท้จริงของน้ำมันดิบที่รั่วไหล เพื่อดำเนินการบังคับใช้กฎหมายทั้งทางอาญาและทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด  เพื่อป้องปรามมิให้การกระทำผิดเช่นนี้เกิดขึ้นอีก
๖.  หน่วยงานรัฐต้องจัดทำแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติตามที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ. ๒๕๔๗ เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทในการจัดการปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันในอนาคต โดยเร่งด่วน 
พวกเราเห็นว่ากรณีท่อขนส่งน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลในครั้งนี้เป็นบทเรียนราคาแพงที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสังคมไทยต้องเรียนรู้และร่วมกันเรียกร้องให้ภาคอุตสาหกรรมต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง  ด้วยการลงทุนมากขึ้นกับมาตรการในเชิงป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม   หากภาคอุตสาหกรรมใดไม่ประสงค์ที่จะลงทุนเพื่อป้องกันปัญหา ก็คงถึงเวลาที่รัฐและสังคมต้องทบทวนว่าควรจะอนุญาตให้มีอุตสาหกรรมดังกล่าวในประเทศไทยอีกต่อไปหรือไม่  เพราะกิจการโรงงานอุตสาหกรรมใด ๆ ถ้าจำเป็นต้องมีอยู่  ก็ต้องดำเนินไปในลักษณะสอดคล้องกับความมั่นคงของของมนุษย์และระบบนิเวศ เนื่องจากไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องปกป้องผลประโยชน์ธุรกิจ จนต้องแลกด้วยสุขภาวะและชีวิตมนุษย์ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างสูงสุดของมนุษย์
ลงชื่อ
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สมาคมรักษ์ทะเลไทย
มูลนิธิบูรณะนิเวศ
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
มูลนิธิอันดามัน
มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม
มูลนิธิเพื่อนช้าง
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
สมาคมการจัดการสิ่งแวดล้อมนิด้า
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต
มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย)
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน
สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
คณะกรรมการบริหารสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น