12.11.55

ความเข้าใจ และ แนวร่วมมุมกลับ (ตอนที่ ๑)


ปัญหาความทุกข์ใจของพี่น้อง ประชาชน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกเชื้อชาติศาสนา เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงพสกนิกรของพระองค์ มีความกังวลพระราชหฤทัย ในความทุกข์ยากของประชาชน จากการกระทำของขบวนการแบ่งแยกดินแดน พระองค์จึงได้พระราชทานความช่วยเหลือลงมาสู่พสกนิกรของพระองค์อย่างมิได้ขาด ผ่านโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นโครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาพิกุลทอง จ.นราธิวาส โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และฟาร์มตัวอย่าง
ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อ.เบตง จ.ยะลา พร้อมทั้งได้พระราชทานยุทธศาสตร์ แก้ไขปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แก่รัฐบาล จนถึงหน่วยงานความมั่นคง น้อมนำมาปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาให้เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน คือ ยุทธศาสตร์ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
จากการน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลทุกสมัยของราชอาณาจักรไทยถือว่าเป็นวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของพี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงจัง โดยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ได้แก่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หน่วยงาน กระทรวง กรม เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๕๗ มีข้อหนึ่งกำหนดไว้ว่า “เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม และเอื้อต่อการพูดคุย ในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง และการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสียในขบวนการเสริมสร้างสันติภาพ” ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่กำหนดไว้ในข้อที่หกว่า “การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” ลองกลับไปมองถึงขุนทัพซึ่งก็คือ แม่ทัพภาคที่ ๔ หรืออีกตำแหน่งคือ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ที่เข้ามารับตำแหน่ง ตั้งแต่ ตุลาคม ๕๓ ต่อจากท่านแม่ทัพภาค ๔ ท่านเดิม เจ้าตำหรับอีเอ็ม นับตั้งแต่ขุนทัพคนปัจจุบันขึ้นรับหน้าที่แก้ปัญหาความไม่สงบจังหวัดภาคใต้ ท่านได้ตั้งเจตนารมณ์ข้อหนึ่งที่สังคมสื่อ และฝ่ายปฏิบัติด้านความมั่นคงทราบกันดี คือ “จัดตั้ง และใช้งานเครือข่ายอย่างกว้างขวาง” อีกทั้ง กำหนดนโยบายเฉพาะหน้า ที่ยังคงใช้ถึงปัจจุบัน และเป็นประโยคคลาสสิคที่สุด ตั้งแต่เริ่มเหตุการณ์ความไม่สงบ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ นั้นคือ นโยบาย “สานใจสู่สันติ” ที่ระดับขุนรอง ถึง ไอ้เณรคนสุดท้ายต้องท่องจำให้ขึ้นใจ และปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม มีข้อหนึ่งที่สอดประสานขานรับกันอย่างลงตัว คือ “เปิดโอกาสให้ผู้มีความคิดเห็นต่างกับรัฐได้มีช่องทางสามารถแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา” แต่ทั้งนี้ขุนทัพอย่างท่านแม่ทัพภาค ๔ ยังเน้นย้ำอีกว่า “รับไม่ได้ถ้าหยิบอาวุธมาต่อสู้ และต้องว่ากันด้วยกฎหมายเท่านั้น” แต่ก็ยังกำหนด และเปิดโอกาสให้ทุกคน โดย “พร้อมอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เดินทางกลับมาอยู่อาศัยในภูมิลำเนาเดิมอย่างสงบสุข” ซึ่งประชาชนในที่นี่ ขุนทัพ ยังหมายถึง กลุ่มขบวนการทั้งคนหนุ่ม     คนแก่ ทั้งหญิง และชาย ที่เป็นกลุ่มขบวนการก่อเหตุรุนแรงแต่ท่านถือว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นผู้หลงเข้าใจผิด จากการรับรู้ที่ถูกบิดเบือนจากกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่สั่งสอนสั่งสมจากความคิด ความเชื่อในทางศาสนาอย่างบิดเบือน ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมืออย่างผิด ๆ จนประชาชนเหล่านั้นหลงเข้าต่อสู้กับฝ่ายรัฐ สร้างความสูญเสียให้กับประชาชนโดยส่วนรวม และขยายวงกว้างออกไปจนเกิดผู้ที่ไม่เข้าใจถ่องแท้ในยุทธศาสตร์ของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่หลบซ่อนตัวในต่างประเทศ อีกทั้งยังไม่เชื่อว่าขบวนการเหล่านี้มีอยู่จริง เพราะรัฐไทยไม่สามารถนำบุคคลเหล่านี้มาแสดงตัวลงโทษตามกฎหมายได้ ก็ด้วยความจำกัดในเรื่องกฎหมายต่างประเทศ ที่คนสองสัญชาติเดินทางเข้าออกระหว่างไทยกับมาเลเซียได้อย่างเสรี จึงทำให้เกิดบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรนักศึกษา เคลื่อนไหวเรียกร้อง สันติสุขให้เกิดกับพี่น้องประชาชนจังหวัดภาคใต้ ซึ่งส่งผลให้การปฏิบัติงานของฝ่ายความมั่นคง ยุ่งยากซับซ้อน มากยิ่งขึ้น เกิดเป็นช่องทางที่กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนใช้แสวงประโยชน์ โจมตีรัฐ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้อย่างเสรี โดยที่องค์กรเหล่านี้ไม่ทราบเลยว่า ตกเป็น “แนวร่วมมุมกลับ”
นักศึกษามหาวิทยาลัย ท่านหนึ่งได้มีโอกาสพูดคุยกับ เพื่อนนักศึกษาด้วยกัน เขาให้ข้อมูลว่า เมื่อสายของวันที่ ๒๑ มิ.ย. บริเวณตึกใหญ่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า เขาเป็นหนึ่งในตัวแทนนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษา ชาย หญิง และอาจารย์ จำนวน ๔๐ คน จาก ม.ปัตตานี, ม.นราธิวาสราชนครินทร์, ม.ราชภัฏยะลา และ ม.อิสลามยะลา ได้เข้าพบ พูดคุยกับ แม่ทัพภาค ๔ เพื่อหารือแนวทางถึงการสร้างความเข้าใจ ระหว่างนักศึกษา กับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งในการรักษาความมั่นคง ภายใน ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการได้เข้าพบปะกับแม่ทัพครั้งนี้เขาบอกว่า น่าจะเกิดจากการที่มีกลุ่มนักศึกษาบางกลุ่มที่ได้ออกมาเคลื่อนไหว ต่อต้านการทำงานของเจ้าหน้าที่ทหารในเรื่องต่างๆ โดยการออกมาเดินขบวน หรือจัดกิจกรรม ในโอกาสวันต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสถานการณ์เหตุการณ์ในพื้นที่ ทั้งยังมีกลุ่มหัวรุนแรง (Hard Core)บางคน บางกลุ่ม ที่ใช้ข้อมูลประวัติศาสตร์ และศาสนา มาปลุกระดม ซึ่งเขามองว่ากลุ่มที่มาวันนี้เป็นกลุ่มนักศึกษานักกิจกรรมทางสร้างสรรค์มากกว่า ซึ่งตัวเขาเองก็เป็นนักกิจกรรมในการเป็นตัวแทนของสถาบันในการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับเพื่อนต่างสถาบัน และต่างจังหวัด ถึงแม้ตัวเขาเองจะเป็นมุสลิม แต่ก็ร่วมงานกิจกรรมกับเพื่อนต่างสถาบันที่นับถือศาสนาพุทธหลายครั้ง และกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ของกลุ่มพวกเขาจะไม่เกี่ยวกับการโจมตี หรือกล่าวหาว่าใคร แต่จะเป็นการแสดงออกในเรื่องสร้างสรรค์ การมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดสันติสุข เช่นการเข้าค่ายนักศึกษาต่อต้านยาเสพติด การจัดกิจกรรมกีฬา หรือการเสวนาสันติภาพ แต่ในส่วนที่ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อตอกย้ำสถานการณ์ในพื้นที่นั้น รวมถึงการเคลื่อนไหวต่อต้านเจ้าหน้าที่ หรือ พ.ร.ก. นั้น พวกเขาไม่เคยเข้าไปร่วม ซึ่งก็เป็นที่รู้ดี กลุ่มนั้นเขาจะไม่มาพบท่านแม่ทัพอย่างแน่นอน และเขายังบอกต่อไปว่า แม้ตัวเขา และเพื่อนนักศึกษาอีกหลายคน รวมถึงอาจารย์ด้วย ก็คงจะไม่มีใครกล้าออกมาแสดงความคิดเห็นหรือคัดค้าน ความคิด ของเพื่อนนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะต่างก็รู้ดีว่าอาจนำภัยมาสู่ตนเอง
จากบางคำถามที่มีเพื่อนักศึกษาได้ถามท่านแม่ทัพ ซึ่งบางคำถามที่ว่า “มีด่านตรวจตั้งเยอะแล้วยาเสพติดมาได้ไง” ซึ่งตัวนักศึกษาท่านนี้ได้ให้มุมมองว่า เขาเองเคยร่วมกิจกรรมกับเพื่อนต่างสถาบันที่จังหวัดเชียงราย นักศึกษาทางโน้นเขาก็จะถามเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า “ทำไมไม่ตั้งด่านตรวจให้เยอะ ๆ จะได้จับยาบ้าให้หมด ๆ ไป” ซึ่งมันเป็นมุมมองคนละด้านกันเลย ที่เขาบอกว่าเพื่อนของเขาที่ถามคำถามนี้ ส่วนหนึ่งก็จะได้รับข้อมูลบางอย่าง มาจากกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มักจะไม่มีใครขัดแย้ง หรือสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ก็ต้องปล่อยเลยตามเลย และมันก็คงไม่เป็นผลดีกับเจ้าหน้าที่ แต่เขาและเพื่อนก็พร้อมที่จะร่วมทำงาน ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ แต่ก็ต้องเข้าไปหาเขา และร่วมกันทำงาน รวมถึงต้องให้ความมั่นใจกับพวกเขาว่า เจ้าหน้าที่สามารถดูแลความปลอดภัยของพวกเขาได้ กลุ่มนักศึกษาที่มาในวันนั้นทั้งหมด เขาเชื่อว่าทุกคนล้วนสำนึกว่าเป็นคนไทย และมีความจงรักภักดีต่อในหลวง ถึงแม้นเขาเองจะมีเชื้อสายมลายู และนับถือศาสนาอิสลาม แต่เขาเองเชื่อว่า ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ และเรื่องราวในอดีตนั้นตัวเขาเองก็รับรู้ แต่ก็ไม่อยากให้อดีตมาเป็นตัวปัญหาของคนรุ่นปัจจุบัน เพราะประเทศเราต้องเดินไปข้างหน้า และอยู่ร่วมกันอย่างสันติดีกว่านักศึกษาท่านนี้ยังได้พูดทิ้งท้ายอีกว่าพวกเขาพร้อมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการร่วมกันให้ข้อมูล
ที่ถูกต้อง เท็จจริง ของเหตุการณ์ใน ๓ จังหวัด เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ปัญหาร่วมกัน แล้วช่วยกันแก้ไข เพราะที่นี่ก็คือบ้านของเขาเอง ซึ่งเขาก็ไม่ต้องการความรุนแรง ที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องล้มหายตายจากทุกวัน ซึ่งตัวเขา และครอบครัวเองก็ไม่รู้ว่าจะถูกลูกหลงเมื่อไร
การเริ่มต้นผูกสัมพันธ์ที่ดี และการดึงพลังนักศึกษา เข้ามาร่วมรับทราบ สร้างความเข้าใจร่วมกัน
ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้าครั้งนี้ นับว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องและตรงจุดที่สำคัญ ถึงแม้นจะไม่ถูกฝา ถูกตัว หรือที่เรียกว่าเกาไม่ถูกที่คัน อย่างน้อยก็เป็นการสร้างความเข้าใจกับกลุ่มนักศึกษาที่ส่วนใหญ่คงไม่มีใครอยากเข้าไปร่วมวงกับกลุ่มหัวรุนแรง และอีกอย่างเป็นการเปิดทางให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง เข้าไปสร้างกิจกรรมร่วมกันเพื่อดึงมวลชนนักศึกษาที่อาจรับฟังข้อมูลด้านเดียว จนทำให้พวกเขาถลำเข้าสู่วังวนที่เป็นเครื่องมือของกลุ่มขบวนการ และเป็นการเปิดทางให้พลังนักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรมได้กล้าออกมาแสดงออกในทางสร้างสรรค์ เพื่อสังคมด้วยแนวทางสันติ โดยไม่มีการแบ่งแยกว่าจะเป็นไทยพุทธ หรือมลายูมุสลิม ด้วยพวกเขาล้วนเป็นเพื่อนกัน แต่สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงเองก็จะวางใจไม่ได้ เพราะด้วยความที่ไม่รู้ของเหล่าน้องนักศึกษาที่รับข้อมูลด้านเดียวจนแยกแยะไม่ได้ว่า กลุ่มขบวนการเขาวางหมากมาอย่างแยบยลจนแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนคือผิด และสิ่งไหนคือถูก จนทำให้ตัวเองเป็นเครื่องมือของกลุ่มขบวนการ รวมถึงกลุ่มนักศึกษาอีกกลุ่ม หรือตัวอาจารย์ ที่ต่างรู้ดีว่านี่คือการเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกต้อง และเป็นกลอุบายของขบวนการ แต่ก็ไม่อาจแสดงความคิด หรือคัดค้านได้ ด้วยความที่อีกกลุ่ม(HARD CORE) ได้ใช้ความเป็นอัตลักษณ์ และวิธีการที่พวกเขาก็ไม่กล้าเสี่ยงกับความปลอดภัยในชีวิต จนถึงเจ้าหน้าที่เองที่อาจรู้ไม่เท่าทันกลุ่มขบวนการ โดยขาดการวิเคราะห์ ซึ่งทั้งสามกลุ่มนี้เองใช่ใหมที่นักวิชาการความมั่นคงเรียกว่า “แนวร่วมมุมกลับ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น